วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

Ttalassemia - ธาลัสซีเมีย

ธาลัสซีเมีย คืออะไร

ธาลัสซีเมีย คือ ความผิดปกติของเลือดชนิดหนึ่ง ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
อาจมีโลหิตจางซึ่งเรียกว่า โลหิตจางธาลัสซีเมีย มีชนิดย่อยหลายชนิดเช่น
 ชนิดเบต้า (beta-thalassemia) ชนิดแอลฟ่า ชนิดอี (Hemoglobin E) ชนิดเอช
เป็นต้น แต่ละชนิดมีความรุนแรงต่าง ๆ กัน

ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ที่รุนแรงมาก เช่น ชนิดเบต้า และอี-เบต้า
จะสร้างเม็ดเลือดแดงผิดปกติที่สลายตัวง่าย ทำให้เลือดจาง ดูซีดเหนื่อย
ง่ายเจริญเติบโตช้า ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่รุนแรงน้อย เช่นชนิด
เอ็ช อาจมีเลือดจางเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ แต่นาน ๆ ครั้ง จะมีอาการ
ซีดลงอย่างรวดเเร็วเป็นพัก ๆ และหายเองได้ เป็นต้น

โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย มิใช่โรคมะเร็งแต่เป็นโรคเรื้อรังประจำ ตัวเด็ก
ต้องให้การรักษาไปตลอดชีวิต โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย รักษาอย่างไร ?

เด็กที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง สามารถรักษาให้ดีได้โดย
การให้เลือดให้มากพอ และให้ยาขับธาตุเหล็ก การให้เลือดจากผู้บริจาค
โลหิตแก่เด็กที่ป่วยด้วยโรคนี้เป็นประจำทุก 3-4 สัปดาห์จะป้องกันไม่ให้
เด็กมีโลหิตจาง และหยุดสร้างเม็ดเลือดที่ผิดปกติได้ เด็กจะแข็งแรงเจริญ
เติบโต เป็นปกติได้แต่ต้องมาโรงพยาบาลสม่ำเสมอตลอดชีวิตเพื่อให้
การรับเลือดแบบนี้

การให้เลือดเป็นประจำจะทำให้ธาตุเหล็กสะสมมากเกินไป เด็กที่รักษา
แบบนี้จะต้องได้รับยาขับธาตุเหล็กออกจากร่างกายเป็นประจำ อาจทำ
โดยการฉีด"ยาขับธาตุเหล็ก"เองตลอดคืนที่บ้าน สัปดาห์ละ 3-5 วัน หาก
ควบคุมธาตุเหล็กมิให้สะสมได้ เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่และมีชีวิตยืนยาว
ได้ใกล้เคียงกับคนปกติ

สำหรับเด็กที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้อง
ให้เลือดเป็นประจำ จะได้ไม่มีปัญหาธาตุเหล็กเกิน จะให้เลือดก็ต่อเมื่อซีด
กว่าเดิมเป็นครั้งคราว หรือเมื่อมีอาการเหนื่อย บางทีการผ่าตัดม้ามออก
อาจทำให้อาการดีขึ้นได้

โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย รักษาหายขาดได้หรือไม่ ?

เด็กที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง อาจรักษาหายขาดได้โดย
การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือการปลูกถ่ายสเตมเซลล์ แต่การรักษาด้วยเทค
โนโลยีขั้นสูงนี้ ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับทุกคน

เพราะว่าการปลูกถ่ายไขกระดูกจะทำสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ มีผู้บริจาคไขกระดูก
หรือสเตมเซลล์ที่มีหมู่เลือด "เอชแอลเอ" ตรงกับผู้ป่วย หากเด็กที่เป็น
ธาลัสซีเมีย มีพี่น้องคนใดคนหนึ่ง ที่มี "เอชแอลเอ" ตรงกับเขาก็อาจรักษา
ได้ด้วยวิธีการปลูกไขกระดูก และอาจทำให้หายขาดจากโรคโลหิตจางธา
ลัสซีเมียไม่ต้องให้เลือดอีกเลย ไม่ต้องฉีดยาขับธาตุเหล็กไปตลอดชีวิต
 แต่หากไม่มีผู้บริจาคที่เหมาะสม การปลูกถ่ายไขกระดูกย่อมไม่สำเร็จ เสี่ยง
ต่อผลข้างเคียงมาก จึงไม่แนะนำให้ทำ

เราจะป้องกันไม่ให้ลูกหลานเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียได้อย่างไร ?

ธาลัสซีเมียเป็นโรคพันธุกรรม ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ย่อมเกิด
จากพ่อและแม่ที่มีภาวะธาลัสซีเมียแฝง ภาวะธาลัสซีเมียนั้นมิใช่โรค ผู้
ที่มีธาลัสซีเมียแฝงเป็นคนปกติและไม่ทำให้โลหิตจาง ชาวไทยและคน
เอเซียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมาก ล้วนมีภาวะธาลัสซีเมียแฝงแบบใด
แบบหนึ่งอยู่ในยีนของเรา เชื่อกันว่ายีนธาลัสซีเมีย มีส่วนทำให้บรรพบุรุษ
เราอยู่รอดจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น โรคมาลาเรีย ที่แพร่ระบาดในภูมิภาคนี้
ในสมัยที่การแพทย์ยังไม่เจริญมาได้จนถึงทุกวันนี้

หากท่านมีธาลัสซีเมียแฝง อย่าได้กังวลใจ ก่อนมีบุตรให้พาคู่ของท่านไป
ตรวจว่ามีธาลัสซีเมียแฝงหรือไม่ ถ้ามีธาลัสซีเมียแฝงทั้งคู่ก็สามารถมีบุตร
ได้ แต่ต้องปรึกษาสูติแพทย์ที่รู้เรื่องธาลัสซีเมียเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับ
การตรวจก่อนคลอด เพื่อให้แน่ใจว่าบุตรที่คลอดออกมา ปลอดจากโรคโล
หิตจางธาลัสซีเมีย หากคู่ใดที่มีธาลัสซีเมียแฝงคนเดียว บุตรจะไม่มีโอกาส
เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงได้เลย สามารถมีบุตรได้ตามปกติ

สามารถสอบถามและเรียนรู้เกี่ยวกับธาลัสซีเมียเพิ่มเติมได้จาก
มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย

http://www.thalassemia.or.th/

หรือ ติดต่อที่ ชมรมธาลัสซีเมีย
 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โทร. 02-256-4949 ในเวลาราชการ
 ขอบคุณข้อมูลจาก รศ.นพ อิศรางค์ นุชประยุร




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น